เปลี่ยนอัญมณีให้มีชีวิต 5 แบรนด์ไทยเล่าเรื่องผ่านเครื่องประดับ สู่วงการแฟชั่นโลก ดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยให้เจิดจรัส

เปิดฉากกันไปแล้วกับ “กิจกรรมการพัฒนาภาพลักษณ์แบรนด์และผลิตภัณฑ์สู่ Fashion Hero Brand สาขาอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย” ที่ได้ทำการเฟ้นหาผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับไทยเพื่อเข้าอบรมและพัฒนาทักษะการทำธุรกิจผ่านการพัฒนาทักษะเชิงธุรกิจและการตลาดแฟชั่นให้คำปรึกษาเชิงลึก พร้อมสร้างภาพลักษณ์ผ่านการบอกเล่าเรื่องราว (Storytelling) พร้อมดึงอัตลักษณ์ไทยร่วมสมัย สร้างต้นแบบ Hero Brand เพื่อยกระดับสู่แบรนด์ระดับสากลในอนาคตต่อไป

​แน่นอนว่าการถ่ายทอดเรื่องราวอัตลักษณ์ความเป็นไทยผ่านอัญมณีและเครื่องประดับนั้นนับว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์อีกหนึ่งสาขาที่ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ให้ความสำคัญ และเร่งเครื่องพัฒนามาอย่างต่อเนื่องผ่านนโยบาย ภายใต้นโยบาย “ดีพร้อม คอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้” วันนี้เราจะพาทุกคนไปสัมผัสความงดงามของผู้ประกอบการในกลุ่ม Art & Craft Jewelry

​เริ่มต้นที่ “PONK SMITHI – พ้อง สมิทธี” โดย พ้อง พรสมิทธิกุล เล่าถึงแรงบันดาลใจในการออกแบบเครื่องประดับเงินตาไม้ ว่า “เครื่องประดับของเราใช้เทคนิค Mokume Gane ผสมผสานโลหะเงิน ทองแดง ผ่านการตีขึ้นรูปด้วยฝีมือช่างไทยกว่า 2,000 ครั้ง สร้างลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ ไม่ซ้ำใครในแต่ละชิ้น”

“การสร้างลาย ‘เงินตาไม้’ คือการเดินทางสู่ความสำเร็จ การเข้าร่วมกิจกรรมกับดีพร้อมจึงเป็นโอกาสสำคัญในการต่อยอดแบรนด์สู่ตลาดต่างประเทศ ผ่านการพัฒนาแบรนด์ที่สะท้อนอัตลักษณ์ไทยร่วมสมัย”

​“Charites Gems” โดย ธนาวัฒน์ พนาเชวง ถ่ายทอดแนวคิดการรังสรรค์เครื่องประดับเอาไว้ ว่า “แบรนด์ของเราถ่ายทอดความงามผ่านลวดลายและแรงบันดาลใจระดับโลก เราเชื่อว่าเครื่องประดับไม่ใช่แค่ของสวยงาม แต่ยังเล่าเรื่องราว ถ่ายทอดจิตวิญญาณ ความปราณีต และศิลปะในแต่ละชิ้น เราเชื่อว่าอัญมณีไม่ใช่เพียงวัตถุแห่งความงาม แต่คือ แหล่งพลังแห่งเรื่องเล่าและอารมณ์ พลอยทุกเม็ดในคอลเลกชันจึงถูกคัดเลือกนอกจากนี้แบรนด์ยังได้ใช้เศษพลอยหรือพลอยตกไซส์เพื่อนำกลับมาสร้างสรรค์ใหม่ด้วยแนวคิด “Refined from the Unrefined” ให้กลายเป็นชิ้นงานที่เปี่ยมความหมายและคุณค่า”

“Nanique” โดย บุษบา อยู่อ่อน เจ้าของแบรนด์ เล่าถึงแนวคิดการทำแบรนด์เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “แนวคิดของแบรนด์คือการมองเห็นความงามในความไม่สมบูรณ์แบบ เครื่องประดับของเราโดยเฉพาะต่างหู มักจะมีสองข้างไม่เหมือนกัน เพื่อสะท้อนความเป็นธรรมชาติและเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคล”

​“ความไม่สมบูรณ์แบบ คือนิยามใหม่ของความงาม และกิจกรรมนี้จะช่วยเสริมสร้างเรื่องราวของแบรนด์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ถ่ายทอดแนวคิดผ่านการออกแบบและสื่อสารได้อย่างตรงจุด”

MONVATOO London โดย มลล์วธู สุขสบาย เล่าถึงจุดเริ่มต้นของ MONVATOO London เอาไว้ว่า แบรนด์เครื่องประดับสัญชาติอังกฤษที่นำศิลปะและจินตนาการมาผสานกับงานฝีมือชั้นสูงอย่างลงตัว แรงบันดาลใจหลักมาจากสัตว์ในตำนานและเทพนิยาย ทำให้ทุกชิ้นงานเต็มไปด้วยเรื่องราวและความหมายเฉพาะตัว เครื่องประดับแต่ละชิ้นผลิตอย่างประณีตในลอนดอน โดยใช้วัสดุคุณภาพสูง เช่น เงินสเตอร์ลิง ทอง 18K และทองเหลือง พร้อมเทคนิคการลงยาทาสีมือและแอร์บรัชที่สร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้กับผลงาน

​“สินค้าของเราจะเน้นไปที่เครื่องประดับ เช่น แหวน ต่างหู ในคอลเลกชันมังกร (Dragon) การออกแบบได้รับแรงบันดาลมาจากความสวยงามของมังกร รวมไปถึงสิ่งมีชีวิตในตำนาน ที่พร้อมจะทุกคนที่สวมใส่เครื่องประดับของเราก้าวเข้าไปสู่โลกเวทมนต์”

ปิดท้ายที่ “Yufa Jewelry” โดย ฟาทิห์ คะระมาน ระบุว่า Yufa Jewelry แบรนด์เครื่องประดับที่มีประสบการณ์ยาวนานกว่า 20 ปีในตลาดอาหรับและตลาดมุสลิม ซึ่งมีแนวคิดในการสร้างสรรค์เครื่องประดับที่เน้นการออกแบบอย่างเข้าใจรสนิยมของผู้บริโภค ด้วยการสร้างสรรค์ผลงานที่มีความหมายและรากฐานทางวัฒนธรรมอย่างแท้จริง
​ “ความเป็นเอเชีย คือการมีรากวัฒนธรรมที่ลึกซึ้งการออกแบบเครื่องประดับจึงได้ผสมผสานระหว่างความเป็นท้องถิ่นและวัฒนธรรมไทยเข้าด้วยกัน แบรนด์ของเราใช้ช่างชุมชนจากสุโขทัย และช่างฝีมือชาวอาข่า และเลือกใช้วัสดุเหลือใช้ เช่น โคนเปลือกหอยที่เหลือจากงานมุกในภาคเหนือ มาต่อยอดเป็นชิ้นงานใหม่ชูแนวคิด Sustainability และเพิ่มคุณค่าให้กับงานฝีมือพื้นถิ่นได้อย่างงดงาม”

สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทร. 0 2430 6883 กด 2 หรือติดตามความเคลื่อนไหว และข่าวสารต่าง ๆ ได้ที่หรือ www.facebook.com/dipromindustry